โครงการหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynostemma pentaphyllum Makino
ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae

ชื่อภาษาไทย : ปัญจขันธ์
ชื่อภาษาอังกฤษ : Miracle grass (หญ้ามหัศจรรย์), Southern ginseng (โสมภาคใต้), 5-Leaf ginseng (โสมห้าใบ)
ชื่อจีน :เจียวกู่หลาน เซียนเฉ่า (สมุนไพรอมตะ)
ชื่อญี่ปุ่น :อะมาซาซูรู (ชาหวานจากเถา)



หากกล่าวถึง “ปัญจขันธ์” หลายคนคงไม่ค่อยคุ้นหูกันนักแต่ถ้าบอกว่า “เจียวกู่หลาน” สมุนไพรจีนที่เข้ามาโด่งดังในไทยจนเกิดโครงการแลกเปลี่ยนสมุนไพร ไทยจีน 11 ชนิด คงต้องร้องอ๋อ!และพอทราบสรรพคุณกันมาบ้างแล้ว “ปัญจขันธ์” มีชื่อจีนว่า “เจียวกู่หลาน” (Jiaogolan) หรือ ซีแย่ตั่น เซียนเฉ่า มีคำแปลเก๋ๆ ว่า สมุนไพรอมตะ และมีชื่อญี่ปุ่นว่า อะมาซารู (ซาหวานจากเถา) ฟากตะวันตกเขาก็มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Miracle glass (หญ้ามหัศจรรย์) หรือ Southern ginseng (โสมภาคใต้) หรือ 5-Leaf ginseng (โสมห้าใบ) ดังนั้น “ปัญจขันธ์” จึงนับว่าเป็นหญ้าสารพัดชื่อที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

“สันติสุข ประสิทธิ์ศักดิ์” ผู้จัดการกลุ่มงานพืชสมุนไพรและพืชธัญญาหารเชียงใหม่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำการทดลองศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรจีน "เจียวกู่หลาน" เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก สร้างรายได้ ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศไทยในการนำเข้าพืชสมุนไพรจากประเทศจีนปี ละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำร่องปลูกพืชสมุนไพรในเขตพื้นที่ 5 สวนป่าทางภาคเหนือขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งได้แก่ สวนป่าหลวงสันกำแพง สวนป่าแม่แจ่ม สวนป่าแม่หอพระ สวนป่าบ้านหลวง จังหวัดเชียงใหม่ และสวนป่าแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผู้จัดการกลุ่มงาน พืชสมุนไพรฯ เล่าให้ฟังว่า เดิมเจียวกู่หลาน เป็นอาหารที่ใช้รับประทานแก้หิวยามกระหาย ใช้เป็นยาแก้ไอและแก้ร้อนใน ต่อมาก็เริ่มมีการคิดค้นคว้าวิจัยและพัฒนาใช้เจียวกู่หลานในการผลิตยา และเหล้าซึ่งหลังจากการศึกษาด้านคลินิกและด้านเภสัชทั้งในประเทศจีนและต่าง ประเทศพบว่าเจียวกู่หลานเป็นสมุนไพรที่ใช้รับประทานเป็นประจำได้ไม่ ว่าจะใช้ทั้งต้น หรือสกัดออกมา โดยจะประกอบด้วยตัวยา 50 ชนิด ซึ่งมีตัวยาที่เหมือนโสมคน 4 ชนิด ได้แก่ GinsenosidesRb1 Rd และ F3 รวมอยู่ด้วย ดังนั้น เจียวกู่หลาน ไม่เพียงมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับโสมคนเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องกังวล ซึ่งต่างจากโสมคน หากใช้เกินขีดปริมาณที่กำหนดอาจเกิดผลข้างเคียงได้

    สมุนไพรเจียวกู่หลาน มีสรรพคุณใช้บำรุงร่างกาย ระงับประสาท ช่วยให้นอนหลับ ลดความตื่นเต้น ลดความดันในโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และกรดไขมันอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด ชะลอความชรา ยืดอายุของเซลล์เพิ่มจำนวนอสุจิ รักษาโรคปวดหัวข้างเดียว ช่วยควบคุมน้ำหนัก ได้โดยไม่ต้องอดอาหาร และช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ เป็นอย่างดี
    นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณในการควบคุมการเจริญ ของเซลล์มะเร็ง และสามารถควบคุมการแพร่การเจริญของเซลล์มะเร็งเองได้ รวมทั้งสามารถยับยั้งการทำงานของเชื้อ HIV

จากนั้น สันติสุข เล่าถึงการทดลองปลูกเจียวกู่หลานในพื้นที่สวนป่าหลวงสันกำแพงให้ฟังว่า การนำเจียวกู่หลานมาปลูกในแปลงทดลองเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์จีน กับสายพันธุ์ไทย เพื่อศึกษาตัวสมุนไพรและเอกลักษณ์ของสารที่อยู่ในตัวสมุนไพร โดยการดำเนินงานในแต่ละสวนจะใช้พื้นที่ 40 ตารางเมตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สายพันธุ์ไทยโครงการหลวง 20 ตารางเมตร และสายพันธุ์จากประเทศจีน 20 ตารางเมตรและล่าสุด ได้ส่งตัวอย่างพืชสมุนไพรเจียวกู่หลานแห้ง จำนวน 2 ตัวอย่าง ให้กับทางสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจวิเคราะห์ ซึ่งผลปรากฏพบว่า ในสมุนไพรเจียวกู่หลานมีสารสำคัญสูงเข้าเกณฑ์มาตรฐานทางเคมี และไม่มีสารปนเปื้อน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี

สำหรับสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกปัญจขันธ์ อากาศไม่ควรร้อนจัดอุณหภูมิ ที่เหมาะสม คือ 16-28 องศาเซลเซียส สูงจากระดับน้ำทะเล 300-3,200 เมตร ขึ้นได้ตามภูเขา หุบเหว สองฟากทางที่มีความชื้นสูง ความชื้นสัมพันธ์มากกว่าร้อยละ 80 มีปริมาณแสงประมาณร้อยละ 40-60 ลักษณะดินที่ปลูกมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนหรือด่างอ่อน

“การปลูกสมุนไพรปลอดสารเคมีหรือที่เรียกว่าเกษตรอินทรีย์ส่งผลให้เราได้ สมุนไพรที่บริสุทธิ์และมีสารสำคัญเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ยังไม่คงที่ ซึ่งเราต้องระมัดระวังกันตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การล้างสมุนไพร การอบสมุนไพร และการเก็บรักษาซึ่งหลายๆ อย่างช่วยฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ด้วย”หัวหน้าสันติสุขอธิบาย

นอกจาก เจียวกู่หลานแล้ว ที่สวนป่าหลวงสันกำแพง ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีโครงการสวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 บนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ เพื่อสร้างต้นแบบสวนสมุนไพรประมาณ 500 ชนิด ด้วย หัวหน้าสันติสุข บอกว่า โครงการนี้จัดทำเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ และศึกษาสวนสมุนไพรเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้เกิดความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายร่วมกับกลุ่มสมุนไพรพื้นบ้านและ โรงพยาบาลในท้องถิ่นในการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานในการนำไปบำบัดรักษาตนเอง ตลอดจนการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่สมาชิกหมู่บ้านป่าไม้และราษฎรในบริเวณ ใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังมีแปลงเพาะปลูกสมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น โกฐจุฬาลำพา หรือชิงเฮา ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรียแบบใหม่ที่ออกฤทธิ์รวดเร็วและมีความเป็นพิษต่ำ และยังพบว่า ยานี้ได้ผล 100% ในการรักษาคนไข้ที่ดื้อยาคลอโรควิน และให้ผลดีร้อยละ 92.9 สำหรับผู้ป่วยมาลาเรียขึ้นสมองอีกด้วย หรือจะเป็นกระชายแดง ไวอะกร้าเมืองไทยที่คงไม่ต้องบอกกล่าวถึงสรรพคุณก็คงรู้เพราะชื่อเสียง โด่งดังมาก สำหรับสตรีที่นี่ก็ปลูกว่านชักมดลูกที่มีสรรพคุณโดดเด่นไม่แพ้กระชายแดงเลย

ผู้จัดการกลุ่มงานพืชสมุนไพรฯ ทิ้งท้ายด้วยว่า สวนป่าสันกำแพงเป็นแหล่งที่รวบรวมพันธุ์ไม้สมุนไพรชนิดต่างไว้มากมาย มีสวนสมุนไพร แปลงวิจัยสมุนไพร แปลงทดลองปลูกสมุนไพร โรงแปรรูปสมุนไพรเบื้องต้น แปลงสาธิตการเกษตรแบบพอเพียง แปลงปลูกผักพื้นบ้าน การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำฮอร์โมนพืช เหล่านี้เพื่อนำความรู้ส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตาม และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ตามพระราชประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริไว้

ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ 25 พฤศจิกายน 2547